ในต่างประเทศ กีฬาชนไก่มีมาแต่ครั้งใดยากที่จะสันนิษฐานได้แต่การเลี้ยงไก่มีมานานกว่า 4,00 ปี จุดประสงค์แรกสุดของมนุษย์ในการนำไก่ป่ามาเลี้ยงเป็นไก่บ้านก็เพื่อเอามาเป็นไก่ชน จากหลักฐานที่พอหาได้เชื่อว่าเลี้ยงมานานกว่า 1,000 ปี มาแล้ว
โดยแหล่งกำเนิดของไก่ชนน่าจะอยู่ในเอเชียนี่เอง เหตุผลก็คือ นอกจากไทยแล้วยังมีประเทศใกล้เคียง เช่น พม่า ลาว เขมร ญวน ฟิลิปินส์ อินโดนีเซีย มีการเล่นตีไก่กันทั่วไป แม้ที่ปราสาทนครวัด ซึ่งสร้างมาแล้วกว่า 1,000 ปี ยังมีรูปสลักหินแสดงการตีไก่ปรากฎอยู่ ส่วนประเทศที่ไกลออกไปก็มีการเล่นตีไก่บ้าง ได้แก่ สเปน เม็กซิโก บราซิล ชิลี กัวเตมาลา เปรู ในอเมริกาใต้ถือว่าการชนไก่เป็นเกมกีฬาอย่างหนึ่ง
การชนไก่ได้เข้าไปในยุโรปภายหลัง เข้าไปแพร่หลายอยู่ในอังกฤษและประเทศอื่นๆ ที่นิยมกีฬาประเภทนี้ ส่วนในอเมริกานั้น เพิ่งจะนำเอาไก่เข้าไปเลี้ยงเมื่อสองร้อยกว่าปีมานี้เอง กีฬาชนไก่ในอเมริกาจึงเพิ่งมีขึ้นภายหลังประเทศอื่นๆ
ในยุโรป การผสมและคัดเลือกพันธุ์ การฝึกฝนและเลี้ยงไก่ได้กระทำกันอย่างจริงจัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศอังกฤษ เมื่อประมาณ 400 ปีมาแล้ว การชนไก่ได้รับความนิยมแพร่หลายมาก มีการคัดเลือกผสม และฝึกไก่ชนกันอย่างกว้างขวาง จนถึงกับว่าอาชีพเพาะพันธุ์ไก่และฝึกไก่ชน เป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญยิ่งอย่างหนึ่งของประเทศ
การคัดพันธุ์และฝึกฝนไก่ชนในประเทศต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นยุคใดสมัยใดก็ตาม มักเน้นหนักในลักษณะที่คล้าย ๆ กันอยู่ 2-3 ประการคือ พยายามให้ได้พันธุ์ที่มีรูปร่างแข็งแรง อดทน เคลื่อนไหวคล่องแคล่วรวดเร็ว และที่สำคัญที่สุดคือ ต้องคัดเลือกพันธุ์ และฝึกฝนให้มีสัญชาตญาณเป็นเพชรฆาตที่สามารถสังหารคู่ต่อสู้ได้ตลอดเวลา
ส่วนวิธีการและกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่จะให้ไก่ต่อสู้กันนั้น อาจมีความแตกต่างกันไปบ้างแล้วแต่ชาติแต่ละแห่ง บางทีเอาแต่เพียงอีกฝ่างหนึ่งแพ้หรือไม่สู้ หรือหนี ก็ถือว่าชนะพอแล้ว แต่บางแห่งเอาแพ้ชนะกันถึงตาย สมัยก่อนชาวโรมันที่นิยมความรุนแรง ได้พลิกแพลงดัดแปลงให้กีฬาชนไก่เป็นกีฬาที่ตื่นเต้นเร้าใจมากยิ่งขึ้น มีการขลิบหรือตกแต่งเดือยเสียใหม่ เอาเหล็กกล้าหรือทองเหลืองมาแต่งจนแหลมคม ติดเข้าไปที่เดือยหรือแข้ง เวลาไก่ชนกัน ตัวไหนพลาดก็หน้าฉีก หรือคอขาดกระเด็นทันที
ในฟิลิปปินส์สมัยนี้ ตามชนบทก็มีผู้นิยมตีไก่ไม่แพ้ของไทย แต่วิธีการผิดกันตรงที่ว่า ชาวฟิลิปปินส์เป็นคนใจร้อน อยากรู้ผลแพ้ชนะเร็วกว่าไทย จึงนิยมใช้ไก่ชนที่มีเดือยแหลมและคม พอปล่อยให้ตีกันได้ไม่กี่ฉาดก็แพ้ชนะแล้ว ยิ่งกว่านั้น ถ้าเดือยสั้นหรือไม่แหลมพอก็ใช้ใบมีดโกนผูกติดกับหน้าแข้งไก่เสริมเข้าไปอีก ปล่อยให้ตีกันคนละทีก็ตายทั้งคู่ การที่คนฟิลิปปินส์เล่นตีไก่วิธีนี้เป็นเพราะว่า เขาพนันกันแต่เดิมพันครั้งแรกเท่านั้น ไม่มีการต่อรองหรือเล่นนอกเหมือนเซียนไก่เมืองไทยเรา จึงจำเป็นต้องให้รู้ผลโดยเร็ว และไม่จำเป็นต้องสร้างสังเวียน หรือ บ่อน เป็นหลักฐานอย่างเมืองไทย จะเป็นที่ไหนก็ชนได้ขอให้พื้นเรียบและกว้างพอสมควรเป็นใช้ได้ ที่เกาะบาหลีค่อนข้างจะตีไก่อย่างใจเย็นขึ้นเล็กน้อย บางคู่ปล่อยให้ตีกันเกือบตลอดวัน มีการพักพอให้ไก่หายเหนื่อย แล้วให้ตีกันอีก นักเลงตีไก่บาหลีก็ล้วนแต่ใจเย็นๆ ทั้งนั้น วันหนึ่งๆ ไม่ยอมทำอะไร งานทุกอย่างตกเป็นภาระของภรรยา ส่วนตัวเองเมื่อตื่นเช้าขึ้นมาก็รีบไปดูไก่ ให้อาหาร ประคบประหงม ฝึกหัดให้น้ำ อาบน้ำไก่ ทำทุกอย่าง เพื่อให้ไก่สมบูรณ์พร้อมที่จะตีได้เสมอ พอสายก็พักผ่อนพร้อมกับไก่ กลางวันรับประทานอาหาร พอบ่ายพาไก่ออกไปตามบ่อน ตกเย็น กลับมาดูแลไก่ต่อ จนค่ำเข้านอน บางทีตกดึกๆ ก็ต้องลุกขึ้นมาดูไก่อีก
ในประเทศไทย เริ่มเล่นไก่ชนมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย การชนไก่ของไทยแต่โบราณถือเป็นการเล่นพื้นเมือง ประจำหมู่บ้านยามว่างจากการทำไร่ทำนา หรือในเทศกาลต่าง ๆ จะนำไก่ที่เลี้ยงไว้ตามใต้ถุนบ้านมาปล้ำกันเล่น เป็นการพักผ่อนคลายอารมณ์ ทำให้เกิดความตื่นเต้นสนุกสนาน พอเห็นไก่เหนื่อยก็พักให้น้ำ ตัวใดสู้ไม่ได้ก็จับเลิกกันไป ก่อนนำไก่มาชนกันก็ต้องเปรียบให้มีขนาดพอ ๆ กัน พันเดือย ปล่อยให้ตีกันแล้วจับแยกให้น้ำ สัญชาตญาณตามธรรมชาติของไก่ชนต้องต่อสู้ป้องกันตัวเองทุกตัว การปล้ำตีไก่ถ้าเกิดบาดแผลจากการจิกตีก็จะใช้สมุนไพร ขมิ้นกับปูนแดงผสมกัน ทาที่แผล 2-3 วัน แผลก็จะหายเป็นปกติ จะเห็นว่าการชนไก่เป็นการพักผ่อนและกีฬาเท่านั้น
ตามประวัติศาสตร์ กีฬาชนไก่อยู่ในความนิยมของบุคคลผู้มีใจเหี้ยมหาญ รักการต่อสู้ เป็นกีฬาของชายชาตรีผู้สูงศักดิ์ จนถึงคนสามัญ ข้อนี้แม้แต่ในพงศาวดารก็สามารถยืนยันได้ เช่น ในพระราชประวัติตอนหนึ่งของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เมื่อครั้งทรงพระเยาว์ที่ใครๆ พากันเรียกว่า “พระองค์ดำ” ต้องเสด็จไปอยู่กับพระเจ้าบุเรงนองในกรุงหงสาวดี ในฐานะตัวประกัน วันหนึ่งทรงเล่นชนไก่กับมังสามเกียด (พระมหาอุปราชา) ยุพราชของพม่า ปรากฏว่าไก่ของพระองค์ตีไก่มังสามเกียดพ่ายแพ้อย่างหมดทางสู้ มังสามเกียดคั่งแค้นเดือดดาลมาก จึงถึงกับเอ่ยปากถางถางว่า “ไก่เชยนี้เก่งจริงหนอ” พระนเรศวรทรงโต้ตอบเป็นเชิงท้าทายอยู่ในทีว่า “ไก่เชลยตัวนี้ อย่าว่าแต่จะตีอย่างวันนี้เลย ตีเอาบ้านเอาเมืองก็ยังได้”
นอกจากในพงศาวดารแล้ว ในพระราชนิพนธ์เรื่องอิเหนา ของพระบาทสำเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ก็ยังทรงกล่าวเรื่องการชนไก่ไว้ ในเรื่องรถเสนนั้น พระอินทร์ถึงกับลงทุนยอมจำแลกายเป็นไก่ชนให้พระรถเสนใช้ชนชนะไก่คู่ต่อสู้ทุก ๆ วัน เพื่อพนันเอาอาหารไปเลี้ยงมารดาในยามตกยาก ในเรื่องขุนช้างขุนแผน มีการกล่าวถึงตำบลสำคัญตำบลหนึ่ง ชื่อเขาชนไก่ ในเมืองกาญจนบุรี ที่ขุนแผนกับมารดาหลบหนีอาญาหลวงจากสุพรรณบุรีไปตั้งตัว
จะเห็นได้ว่า ดั้งเดิมมาการชนไก่ไม่ใช่เรื่องของการพนันขันต่อใด ๆ การนำเอาไก่มาปล้ำกัน เจตนาแท้จริงก็เพียงการฝึกซ้อมให้ไก่รู้จักชั้นเชิงการต่อสู้ เพราะไม่มีเรื่องของเงินทองเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ในปัจจุบันการชนไก่จะเป็นเรื่องของการพนันขันต่อเสียส่วนมาก ไก่ที่พนันจะต้องชนกันไปจนกว่าจะแพ้ชนะกัน ซึ่งต้องใช้เวลามาก ไก่จะต้องชนกันหลายอัน หรือหลายยก หรือตามกติกาโดยทั่ว ๆ ไป จะชนกัน 12 อัน หรือ 12 ยก ยกหนึ่งจะใช้เวลาราว 10-25 นาที ชนยกพักยก เนื่องจากการชนไก่ตามกติกานานถึง 12 อัน ทำให้ไก่บอบช้ำมาก และได้รับบาดเจ็บ บางตัวถึงตาย หากพิจารณาดูให้ถ่องแท้ก็จะเห็นว่าไม่ใช่เป็นเกมกีฬาเสียแล้ว แต่กลับเป็นการทรมานสัตว์ เมื่อมีการพนันขันต่อทำให้คนติด หมกมุ่นในการพนัน บางคนไม่เป็นทำมาหากินทั้งวัน เพราะการชนไก่นั้นจะใช้เวลาเกือบ 1 วัน เป็นการเสียเวลาสมัยก่อนสังเวียนหรือ บ่อนไก่ชนมีอยู่มากเกือบทุกตำบลหรืออำเภอก็ว่าได้เพราะจัดตั้งได้โดยเสรี หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลเพ่งเล่งไปในแง่ทรมานสัตว์ อันเป็นลักษณะของคนในอารยประเทศ และเห็นว่าถ้าปล่อยให้กีฬานี้รุ่งเรืองไป ชาวนาชาวไร่จะพากันหมกหมุ่นไม่เป็นอันทำมาหากิน เอาแต่เล่นพนันกันจนหมดตัว เกียติของชาวนาชาวไร่ที่ถือว่าเป็นกระดูกสันหลังของชาติ ก็จะลดลง ไม่น่าภูมิใจดังแต่ก่อน รัฐบาลสมัยนั้นจึงออกกฎหมายควบคุมการตั้งบ่อนไก่ว่า จะต้องขออนุญาติเสียก่อน และจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายทุกประการ