“ปล้ำไก่” อย่างไร? ให้มั่นใจในเชิงชน

หน้าแรก »ตำราไก่ชน » “ปล้ำไก่” อย่างไร? ให้มั่นใจในเชิงชน

การฝึกซ้อมคู่หรือเรียกว่า “การปล้ำไก่” ถือเป็นการออกกำลังกายและการฝึกซ้อมเรื่องของชั้นเชิงที่ดีที่สุด โดยส่วนมากเริ่มฝึกในลักษณะนี้กับไก่ที่มีอายุ 9-10 เดือนขึ้นไป ซึ่งเป็นระยะที่ไก่ได้ผ่านการบริหารร่างกายและการออกกำลังกายจนกำลังอยู่ตัวแล้ว ซึ่งระยะนี้ไก่ชนจะมีร่างกายที่สมบูรณ์เต็มที่มีความคล่องแคล่วว่องไวมีพละกำลังและจิตใจเป็นนักสู้เต็มตัว

โดยผู้เลี้ยงมักจะเสาะหาไก่ชนที่มีขนาดไล่เลี่ยกันและอายุใกล้เคียงกันมาเป็นคู่ซ้อมหรือผู้เลี้ยงมักจะอุ้มไก่ของตนไปซ้อมกับไก่ของซุ้มอื่นๆ ตามสนามชมรม หรือตามซุ้มที่เปิดซ้อม การซ้อมในลักษณะนี้จะมีความใกล้เคียงกับการชนจริงหากแต่มีการป้องกันการบาดเจ็บที่รัดกุมมากกว่า เช่น ใช้พลาสเตอร์พันเดือยให้หนาขึ้น พร้อมมีการผูกอย่างมิดชิด รวมทั้งไม่มีการรักษาบาดแผลระหว่างซ้อมเหมือนกับการชนจริง ตลอดจนไขหัวหรือถ่างตาด้วย

ในการปล้ำไก่ตามสนามซ้อมหรือสนามชมรมเจ้าของไก่ต้องมีประสบการณ์ในเรื่องไก่ชนพอสมควร เนื่องจากการไปปล้ำบางคู่ต่อสู้มักบอกรายละเอียดของตัวเองไม่หมด เช่น เรื่องของอายุและน้ำหนักตลอดจนประสบการณ์ในการชนหรือซ้อม หลายคนมักบอกว่าไก่ของตัวเองยังใหม่อยู่ ยังไม่เคยฝึกหรือชนไก่มาก่อน เพื่อที่จะได้คู่ปล้ำ รุนแรงถึงขั้นเสียไก่ไปเลยก็มี ดังนั้นเจ้าของไก่จึงต้องพิจารณาให้ออกด้วยว่าคู่ปล้ำของตนเองมีอายุมากน้อยแค่ไหน น้ำหนักใกล้เคียงกันหรือไม่ เคยผ่านสนามหรือฝึกซ้อมมาแค่ไหน ซึ่งไก่ที่ป้อมกันต้องไม่มีข้อได้เปรียบเสียเปรียบตรงนี้กันมากนัก

ผู้เลี้ยงไก่จงจำไว้เสมอว่า ไก่หนุ่มก็ปล้ำกับไก่หนุ่มและขนาดตัวก็ให้เท่าๆกัน สูสีกัน อย่าไปปล้ำกับไก่ที่เคยปล้ำมาแล้ว 2-3 ครั้ง รวมทั้งอยากปล้ำกับไก่ที่แข็งแรงมากเกินไปอาจจะทำให้ไก่ใหม่ถอดใจหรือดีดไก่ได้ เพราะช่วงที่ไก่ประสานแข้งใส่กัน โดยธรรมชาติของสัตว์ก็จะรู้ได้ทันทีเลยว่าตัวเองต่อสู้กับรุ่นไหน

การเปรียบไก่ในการต้มไก่นั้นมันสำคัญมากเลยทีเดียวบางคนจะชอบพูดว่าปล้ำไปเถอะแค่ไก่ปล้ำเสียเปรียบนิดหน่อยไม่เป็นไรหรอก อย่าไปเชื่อคำพูดเหล่านี้โดยเด็ดขาด เพราะอาจจะทำให้เกิดความเสียหายตามมา ทั้งไก่ได้รับความบอบช้ำมาก สาเหตุมาจากปล้ำไก่ตัวไม่เท่ากัน ดีไม่ดีไก่ตัวที่เสียเปรียบจะเสียเชิงชนไปเลย และความแข็งแกร่งหรืออายุไม่ใกล้เคียงกันในช่วงที่ปล้ำนั้น อาจจะปล้ำกับเขาได้ แต่พอถึงบ้านยกขาข้างเดียว หรือเจ็บข้างในบอบช้ำ อาจจะเสียไก่ไปเลยก็ได้

รวมทั้งทำให้เจ้าของไก่ติดนิสัย เป็นคนมักง่ายไม่รอบคอบ เพราะการเปรียบไก่ปล้ำมันเป็นพื้นฐานของการเปรียบไก่ชนในสนามมาตรฐาน ถ้าเคยฝึกแบบมักง่าย อะไรก็ได้ตีๆไปเถอะ เวลาไปตีสนามจริงก็จะมักง่ายเช่นเดียวกัน จะเปรียบไก่เสียเปรียบอยู่เรื่อยๆไป เพราะเคยคิดว่าเสียเปรียบนิดหน่อยไม่เป็นไร ซึ่งอย่าลืมว่าไก่ที่บ่อนกับไก่ที่ปล้ำซ้อม ที่บ้านหรือซุ้มไม่เหมือนกันไก่ที่มาตีในสนามต้องเก่งพร้อมทุกอย่างแล้วถึงมาตีได้


อุปกรณ์ที่สำคัญที่ขาดไม่ได้เลยสำหรับการตั้งไก่นั้นก็คือสังเวียน ซึ่งเป็นอุปกรณ์สำคัญสำหรับล้อมให้ไก่ได้ตีกันในบริเวณที่กำหนด ปัจจุบันมีสังเวียนสำเร็จรูปซึ่งทำจากโฟม จำหน่ายมีทั้งขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางตั้งแต่ 3-5 เมตร ซึ่งง่ายและสะดวก หรือหากเป็นฟาร์มใหญ่ๆก็ใช้เป็นสังเวียนถาวร โดยทำเป็นโครงเหล็กและบุด้วยฟองน้ำและหนังอย่างดี และที่สำคัญพื้นสังเวียนควรมีลักษณะที่อ่อนนุ่ม เป็นพื้นหญ้า พื้นทราย หรือใช้เป็นพรมปูก็ได้ เพราะหากพื้นมีลักษณะที่แข็งเป็นพื้นดินธรรมดา ซึ่งมีเศษหินหรือวัสดุอื่นๆปะปนอยู่ ก็ทำให้ไก่เกิดการบาดเจ็บได้ การปล้ำไก่ต้องให้ความสำคัญเรื่องนี้ให้มากพอสมควร

ก่อนที่นำไก่ปล้ำ ก็เช็ดน้ำให้เปียกทั่วทั้งตัวเพื่อไม่ให้ไก่หอบระหว่างชนเมื่อเตรียมไก่เรียบร้อยแล้ว ก็ปล่อยหาง ไก่ทั้งคู่ก็เริ่มบรรเลงเพลงแข้งใส่กัน ซึ่งระยะเวลาการปล้ำแต่ละอันก็ใกล้เคียงกับการชนจริง คือประมาณ 20 นาที ครั้งแรกๆอาจปล้ำเพียง 1 อันเท่านั้น แต่เมื่อไก่แข็งแรงขึ้น มีน้ำอดน้ำทนมากยิ่งขึ้น ก็อาจเพิ่มเป็น 2 หรือ 3 อันก็ได้ โดยพัก 20 นาทีเหมือนชนจริง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของไก่ และความบอบช้ำที่ไก่ได้รับนั่นเอง

ระหว่างพักยกการปล้ำก็มีการให้น้ำเช่นเดียวกัน นำผ้าชุบน้ำมาลูบลำตัวให้ขนไก่เปียกชุ่ม เพื่อไก่ชนจะได้หอบช้าลง เช็ดเลือด และหารอยบาดแผล ซึ่งอาจถูกเดือยหรือแข้งของคู่ต่อสู้ในระหว่างชนกัน อีกทั้งเป็นการพักผ่อนไปในตัว ต้องดูอาการของไก่ให้ออกว่าเจ็บหรือฟกช้ำบริเวณไหน ถ้าไม่ไหวก็ให้หยุดไว้ก่อน ไม่ควรนำไก่ซ้อมจนได้รับบาดเจ็บหนัก เพราะทำให้เลี้ยงชนต่อไม่ได้

การให้น้ำทุกครั้งต้องใช้ขนไก่แย้งลงไปในลำคอ พร้อมกับหมุนวนไปวนมา 2-3 รอบ เพื่อเอาเสลดและเลือดในลำคอออกมาจนหมด จะช่วยให้ไก่หายใจได้สะดวกขึ้น นอกจากนั้นต้องใช้ผ้าชุบพอหมาดๆเช็ดตามตัวไก่ให้ทั่วถึง โดยเฉพาะบริเวณใต้ปีกทั้งสองข้าง
อย่างไรก็ตามก็ไม่ควรปล้ำติดต่อกันเกิน 2 ครั้งใน 1 เดือน และควรให้ไก่ได้พักอย่างน้อย 1 สัปดาห์ ถึงนำมาซ้อมปล้ำใหม่ได้ เพราะทำให้ไก่กรอบได้ ไก่ที่ผ่านการซ้อมคู่หรือปล้ำมาแล้ว 3 ครั้งขึ้นไป จะมีกล้ามเนื้อที่แข็งแกร่ง มีความปราดเปรียวว่องไว และมีชั้นเชิงในการต่อสู้ครบถ้วนสมบูรณ์พร้อมที่จะนำเข้าสังเวียนเพื่อชนจริงๆได้

สิ่งที่ควรพิจารณาในการฝึกซ้อมคู่หรือการปล้ำคือฟอร์มในการชนแต่ละครั้งว่าเป็นอย่างไร มีการพัฒนาจากครั้งก่อนๆมากน้อยเพียงใด เช่น ตีลำหนักเหมือนเดิมหรือไม่ บินดีไหม ตีแม่นไหม ตลอดจนพละกำลังว่าถดถอย คงที่ หรือดีขึ้น ซึ่งก็ทำให้ผู้เรียนทราบว่าไก่มีความสมบูรณ์มากน้อยแค่ไหน และพร้อมที่จะออกสังเวียนจริงๆได้หรือยังนั่นเอง

เรื่องของความเก่งกาจเจ้าของไก่ต้องมองให้ออก เพราะบางครั้งคู่ที่นำออกมาปล้ำอาจเป็นไก่ที่ได้เปรียบ เช่น อายุมากกว่า ขนาดตัวใหญ่กว่า หรือผ่านการฝึกซ้อมมากกว่า การที่เรานำไก่ไปปล้ำกับไก่ลักษณะนี้ ไก่เราอาจสู้ไม่ได้หรือตีผิดฟอร์ม ต้องพิจารณาเรื่องเหล่านี้ควบคู่กันด้วย ขณะเดียวกันบางครั้งไก่เราอาจได้เปรียบ ก็ทำให้ฟอร์มการตีค่อนข้างโดดเด่นต้องพิจารณาด้วยเช่นกัน เพื่อจะได้ไม่เกิดข้อผิดพลาดในการตัดสินใจที่นำไก่ออกชน
การปล้ำยังทำให้ไก่มีน้ำอดน้ำทนมากขึ้น หรือที่คนเลี้ยงไก่เรียกว่าได้หน้า คือไก่ถูกตีบริเวณหน้า ทำให้เกิดบาดแผลและเมื่อตกสะเก็ดก็ทำให้หนังบริเวณดังกล่าวหนาขึ้น สิ่งที่ตามมาคือเมื่อไก่ถูกตีครั้งต่อๆไปก็ทนได้ ไม่ยืนซึมเหมือนครั้งแรกๆ เพราะโดยปกติแล้วเมื่อไก่ถูกตีบริเวณใบหน้า หัว จะมีลักษณะยืนซึม ยิ่งไก่ที่ไม่เคยถูกตีมาก่อนนั้น จะยืนซึมให้เห็นอย่างชัดเจน จึงเป็นสาเหตุว่าไก่ที่จะออกชนได้จำเป็นต้องมีการฝึกซ้อมด้วยการปล้ำเสียก่อนนั่นเอง

แต่บ่อยครั้งที่ผู้เลี้ยงนำไก่ไปปล้ำแบบเอาจริงเอาจัง ประหนึ่งว่าเป็นการชนกันจริงๆ บางครั้งปล้ำถึงอัน 3-4 ซึ่งมากกว่าการซ้อม บางครั้งไก่ยังไม่พร้อมที่ได้รับการบาดเจ็บที่รุนแรงมาก หากไปปล้ำลักษณะนี้อาจทำให้เสียไก่ได้ หรือหลายคนเมื่ออุ้มไก่ไปปล้ำแล้วแต่ยังหาคู่ไม่ได้ใจร้อนยอมเสียเปรียบเรื่องของขนาดตัว หรืออายุ ซึ่งก็ทำให้ไก่ได้รับบาดเจ็บที่รุนแรงเช่นกัน ผู้เรียนต้องพิจารณาให้ดีว่าไก่ของตนเองเหมาะที่จะปล้ำกับไก่ลักษณะแบบไหน ซึ่งก็เป็นผลดีกับเจ้าของไก่ทั้งคู่
หลังจากการปล้ำทุกครั้ง หากเป็นการปล้ำจริงๆ ไก่จะได้รับบาดเจ็บไม่มากนัก ควรนำมาพักและส่งไว้ซัก 1-2 วัน ไม่ต้องเช็ดน้ำ พร้อมกับให้ยาแก้อักเสบแบบรับประทานต่อเนื่อง 2 วัน จากนั้นก็อาบน้ำอุ่นพร้อมประคบร้อนแก้รอยฟกช้ำ ประมาณสัก 6-7 วัน แผลก็ตกสะเก็ดหมด ถ้าไก่สมบูรณ์ไม่มีอาการบาดเจ็บอื่นๆแทรกซ้อนก็นำไก่กลับมาฝึกซ้อมและเตรียมตัวที่ออกชนได้ตามปกติ


หลังจากการปล้ำควรมีการนวดตัวไก่ให้หายปวดเมื่อย ด้วยยานวดแก้ปวดเมื่อย เช่น เคาเตอร์เพน แต่อย่าใช้มากนักเพราะตัวยามันร้อน ให้นวดยาเบาๆ ตอนเช้าตื่นขึ้นมาไก่ก็ยังสดชื่นคึกคะนองอยู่เหมือนเดิม บางคนปล้ำไก่แล้วอาจจะไปลงขมิ้นให้ด้วยก็ได้  วันถัดมาให้ดูว่าไก่ตัวปั๊มมีอาการเป็นอย่างไร ถ้ามีอาการผิดปกติในเรื่องต่างๆ ก็ให้รีบรักษาทันที ส่วนจะเป็นอะไรก็ให้เอาไก่ไปปล่อยตาข่ายให้มันเดินเคลื่อนย้ายอย่างอิสระ ไก่ที่ปล้ำแล้วไม่ควรขายสุ่มเวลาไปปล้ำหรือตีก็จะแข็งทื่อไม่ยอมตี เพราะกล้ามเนื้อมันตึงยึด เพราะธรรมชาติของไก่มันจะเคลื่อนที่อยู่ตลอดเวลา

หลังจากปล่อยตาข่ายแล้วก็นำมาทำเนื้อตัวอาบน้ำและนวดกระเบื้อง โดยไม่ต้องมากให้ประคบกระเบื้องที่ส่วนหนาของไก่ คือส่วนที่จะโดนแข้งคู่ต่อสู้ เช่น ใบหน้า คอ หน้าอก ดุมปีก นวดด้วยเคาน์เตอร์เพน เสร็จก็นำไปกราดแดด ทำแบบนี้ทุกวัน 4-5 วัน แผลก็จะเริ่มหาย และนำไก่มาออกกำลังกายต่อได้

การเลี้ยงไก่ชนต้องเลี้ยงให้เป็นธรรมชาติที่สุด อย่าเลี้ยงแบบฝืนธรรมชาติ ยิ่งเป็นธรรมชาติมากเท่าไหร่ยิ่งดี แต่การเลี้ยงไก่แต่ละประเภทจะไม่เหมือนกันแต่ก็คล้ายๆกันเพียงแต่ปรับนิดหน่อยเท่านั้น เช่น การเลี้ยงไก่พม่าจะไม่ใช้ขมิ้นและกระเบื้อง ถ้าใช้แล้วจะทำให้ไก่ตึงและจะบินไม่ได้ แต่ก็ต้องปล้ำซ้อมเหมือนกับไก่ทั่วไปให้ได้ครบยกเหมือนกัน มีคนพูดว่าเลี้ยงไก่พม่าไม่ต้องปล้ำมากก็สามารถนำไก่ออกไปชนได้ มันก็ไปชนได้แต่เสียดสีไปก็จะแพ้