สายพันธุ์ไก่ชนที่เก่าแก่ที่สุดของไทยคือ??

หน้าแรก »ไก่ชนไทย » สายพันธุ์ไก่ชนที่เก่าแก่ที่สุดของไทยคือ??

ตำราไก่ชนได้กล่าวไว้ว่า  สายพันธุ์ไก่ชนที่มีประวัติยาวนานเก่าแก่ที่สุดของไทยได้ถูกบันทึกไว้มี 2 สายพันธุ์ เรามาทำความรู้จักไก่ชน 2 สายพันธุ์นี้กันเลยจ้า

ไก่เหลืองหางขาว

“ไก่เหลืองหางขาว” ถือเป็นพันธุ์ไก่ชนที่เริ่มมีการกล่าวถึงมาตั้งแต่ในตำนานสมเด็จพระนเรศวร ถ้าใครได้อ่านประวัติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช  หรือแม้แต่ในภาพยนต์ตำนานสมเด็จพระเนรศวรมหาราชก็ตาม  น่าจะเคยได้ยินคุ้นหู หรือผ่านสายตา กับ สัตว์เลี้ยงคู่กายอีกหนึ่งชนิดของพระองค์นั้นก็คือ ไก่ชน “ไก่เหลืองหางขาว และถือเป็นสายพันธุ์ต้นตระกูลของพันธุ์ไก่ชนใหม่ๆหลายสายพันธุ์

โดยมีเรื่องราวตามประวัติศาสตร์ที่ปรากฏอยู่ในพงศาวดารว่า  เมื่อครั้งที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงพำนักอยู่ในกรุงหงสาวดี ประเทศพม่า ทรงนำไก่เหลืองหางขาวไปจากเมืองพิษณุโลก เพื่อนำไปชนกับไก่ของพระมหาอุปราชาเป็นไก่ชนที่มีลักษณะพิเศษมีความเฉลียวฉลาดในการต่อสู้ จึงชนชนะ จนได้รับสมญานามว่า เหลืองหางขาว ไก่เจ้าเลี้ยง” 

โดยมีถิ่นกำเนิดแถบภาคเหนือของไทย บริเวณบ้านหัวแท ตำบลบ้านกร่าง อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งนับได้ว่าจังหวัดพิษณุโลกนั้นเป็นแหล่งกำเนิดไก่พันธุ์เหลืองหางขาวพันธุ์ดีสายเลือดแท้   จนทำให้เป็นที่นิยมเลี้ยงกันทั่วไปในปัจจุบัน โดยในกลุ่มคนเล่นไก่ชนนั้นได้ยกให้ไก่เหลืองหางขาวเป็นไก่มีสกุลและชั้นเชิงด้านฝีมือ มั่นใจได้ว่าไปแข่งกับใครจะต้องเป็นฝ่ายชนะอย่างแน่นอน และเป็นสมบัติของชาติไทย ที่หากใครได้ยินชื่อไก่ชนสายพันธุ์นี้การันตีได้เลยว่าเป็นไก่สายพันธุ์ดี จนได้รับความนิยมนำไปหาเลี้ยงทั่วประเทศ 

ลักษณะเด่น

ไก่ชนตัวผู้จะมีขนสร้อยต่างๆเป็นสีเหลือง หางแนบชิด สลวย โคนปีกหาง และกลางหางมีสีขาวปลอด ส่วนปลายหางมีสีดำ โดยมีขนขาวแซมเล็กน้อยอยู่ 3 จุด คือ

  1. ขนหัว บริเวณท้ายทอย
  2. ปีกทั้งสองข้าง
  3. บริเวณข้อขาทั้งสองข้าง

ส่วนพื้นตัวมีสีดำตลอดทั้งตัว ส่วนสีของปาก สีแข้ง สีเล็บ และสีเดือยจะมีสีขาวอมเหลือง คล้ายกับสีงาช้าง จะงอยปากด้านบนมีร่องน้ำ ดวงตามีสีเหลืองอ่อน และใส ส่วนนัยน์ตาขาวสามารถมองเห็นเส้นเลือดแทรกอยู่ได้ชัดเจน เรียกว่า “ตาปลาหมอ” ส่วนไก่ตัวเมียมีลักษณะคล้ายตัวผู้ แต่หางจะมีสีดำตลอด และปลายขนพื้นลำตัวมักมีสีขาวเล็กน้อย ส่วนสีของปาก สีแข้ง สีเล็บจะมีสีคล้ายไก่ชนตัวผู้

ขนาดและน้ำหนักมาตรฐาน

1.  เพศผู้ มีน้ำหนักตั้งแต่ 3 กิโลกรัม ขึ้นไป สูงตั้งแต่ 60 เซ็นติเมตร วัดจากใต้ปากล่างตั้งฉากถึงพื้นที่ยืน 

2. เพศเมีย มีน้ำหนักตั้งแต่ 2 กิโลกรัมขึ้นไป สูงตั้งแต่ 45 เซ็นติเมตรขึ้นไป อายุเมื่อให้ไข่ฟองแรก 198 วัน ผลผลิตไข่/ปี 136 ฟอง

 

ไก่ประดู่หางดำ

“ไก่พันธุ์ประดู่หางดำ”  หนึ่งในสามสายพันธุ์ประดู่หางดำพันธุ์แท้ (คือ ประดู่เมล็ดมะขาม ประดู่แสมดำ ประดู่แข้งเขียวตาลาย)   เป็นไก่ไทยพันธุ์แท้แต่โบราณเช่นกัน  โดยมีการพัฒนามาจากไก่บ้านพันธุ์กะตังอูหรือไก่อู  ที่มีมาพร้อมกับ “ไก่เหลืองหางขาว” ซึ่งมีการพบประวัติในการชนไก่ที่เล่ากันมาเริ่มตั้งแต่สมัยสุโขทัยจากชาวบ้าน  และเริ่มแพร่หลายนิยมในหมู่เจ้าขุนมูลนายจนพัฒนาเป็นกีฬาพระราชา  เช่น  ในสมัยสมเด็จพระนเรศวร  สมเด็จพระเอกาทศรถ  พระเจ้าเสือ  และสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช  เป็นต้น  ไก่ประดู่หางดำเป็นที่นิยมมากในสมัยพระเจ้าเสือโดยได้นำไก่จากพิจิตรไปชนกับชาวบ้าน  สมเด็จพระเอกาทศรถนำไก่ประดู่หางดำจากสุพรรณบุรีชนกับไก่ของข้าราชบริพารแล้วชนะตลอดทุกครั้ง  ทำให้ไก่ประดู่หางดำโด่งดังไปกว่าไก่เหลืองหางขาวเสียอีก  บางตำราก็มีการบอกเล่าว่า  ไก่ประดู่หางดำเป็นต้นตระกูลสายพันธุ์ไก่อื่น ๆ อีกหลายสายพันธุ์ในประเทศไทย    โดยมีถิ่นกำเนิดแถบภาคกลางของไทย  เชื่อว่ามีถิ่นกำเนิดแถวบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา และบ้างก็ว่ามีถิ่นกำเนิดในภาคกลางแถวเขตมีนบุรี กรุงเทพฯ จังหวัดอยุธยา และจังหวัดสุพรรณบุรี

ลักษณะเด่น

ไก่ชนตัวผู้มีพื้นสีลำตัวดำสนิท หนังบริเวณใบหน้ามีสีแดง สีของขนสร้อยต่างๆเป็นสีประดู่ คือ ดำอมแดง คล้ายกับสีเมล็ดมะขาม และหากเป็นสีประดูอ่อน คือ มีสีแดงมากกว่าดำจะเรียกว่า ประดู่แดง และหากมีสีเข้มหรือประดู่เข้มจะเรียกว่า “ประดู่มะขามไหม้” ส่วนหางมีขนหางแนบชิดกัน หางยาวโค้งเป็นรูปพัด ขนหางมีสีดำสนิท ส่วนสีของปาก สีแข้ง สีเล็บ และสีเดือย จะมีสีน้ำตาล ส่วนตัวเมียพื้นสีลำตัวสีดำอมน้ำตาล ส่วนอื่นคล้ายกับตัวผู้

ขนาดและน้ำหนักมาตรฐาน

  1. เพศผู้เฉลี่ยประมาณ  3.00 – 3.50  กิโลกรัม
  2. เพศผู้เฉลี่ยประมาณ  2.50 – 3.00  กิโลกรัม
  3. สีของเปลือกไข่ เปลือกไข่สีน้ำตาลอ่อน ลูกเจี๊ยบ หัว หน้าอก ปีกไซนอกสีขาวนวล ปาก ขาสีน้ำตาลแก่