เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยในการเลี้ยงไก่ชน!!!

หน้าแรก »อยากเลี้ยงไก่ชน » เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยในการเลี้ยงไก่ชน!!!

ข้าวเปลือกถือเป็นอาหารหลักของไก่ชน ทำให้ไก่มีแรงและสามารถใช้ชีวิตรวมทั้งฝึกซ้อมในแต่ละวันได้ การให้ข้าวเปลือกควรให้วันละ 2 กระเพาะเช้าเย็นเท่านั้น โดยมื้อเช้าให้กินเวลาประมาณ 09.00 น.  ขณะที่ช่วงเย็นให้กินประมาณ 17.00 น.  และการให้ข้าวแต่ละครั้งจะให้เพียงครึ่งชั่วโมง แล้วเก็บข้าวที่ให้ออกทันที  ในช่วงแรกไก่อาจกินข้าวได้ไม่เต็มกระเพาะก็ไม่เป็นไรให้เก็บออกได้เลย  การให้ด้วยวิธีนี้เมื่อผ่านไป 2-3 วัน ไก่ก็จะรู้ว่าต้องกินเป็นเวลา  หลังจากนั้นทุกครั้งที่ให้ไก่ก็จะรีบกินอย่างเต็มที่  และกินได้เต็มกระเพาะพอดี

การให้ข้าวในลักษณะนี้จะทำให้รู้ว่า  ถ้าไก่สมบูรณ์แข็งแรงดีจะกินข้าวได้เต็มกระเพาะทั้ง 2 มื้อ ขณะที่ไก่ป่วยไม่สบาย หรือมีอาการที่ผิดปกติอื่นๆ จะกินข้าวได้น้อยลง  และนอกจากการกินได้แล้ว ยังช่วยบอกเรื่องของการย่อยด้วย  เพราะโดยปกติแล้วหากให้ไก่กินข้าวตอนเช้า 09.00 น.  ไม่เกิน 15.00-16.00 น.  ไก่สมบูรณ์ก็ย่อยได้หมด ในกระเพาะจะไม่มีข้าวเหลืออยู่แล้ว แต่ถ้าไก่ตัวไหนยังมีข้าวอยู่ในกระเพาะแสดงว่าไก่อาจป่วยหรือมีปัญหาได้  ทำให้รู้ว่าไก่ที่เลี้ยงอยู่มีปัญหา  ซึ่งก็ทำให้หาสาเหตุและแก้ไขได้อย่างรวดเร็ว

อย่างไรก็ดี  ในกรณีที่นำไก่ไปปล้ำมา หลังจากวันปล้ำไก่อาจกินข้าวได้น้อยลงในช่วง 1-2 วัน  ซึ่งเป็นเรื่องปกติ  ตรงนี้ก็จะทำให้สังเกตได้อย่างชัดเจน แต่ถ้าไก่พร้อมที่ออกชนแล้ว  หลังจากปล้ำมาก็ยังกินข้าวได้เท่าเดิม แสดงถึงความสมบูรณ์แข็งแรง  และความพร้อมในการต่อสู้

สำหรับยาและสมุนไพรที่ใช้ในการเลี้ยงไก่ชนแต่ละซุ้มแต่ละฟาร์มใช้แตกต่างกันไปตามที่เห็นว่าดีแต่จริงๆ แล้ว สิ่งที่ทำให้ไก่สมบูรณ์แข็งแรงจริงๆ คือการฝึกซ้อมมากกว่า  อย่างไรก็ตามเพื่อความอบอุ่นใจของผู้เลี้ยง  อาจมีการเสริมสมุนไพรบ้างเล็กน้อย  เพื่อช่วยระบบการย่อยและเสริมวิตามิน  เช่น  มะเขือเทศหรือแตงกว่า  หั่นเป็นชิ้นเท่านิ้วก้อยให้กินวันละ 1 ชิ้น หลังข้าวมื้อเช้า กระชายขนาดสักข้อนิ้วก้อยให้ 2 ชิ้น บอระเพ็ดหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ ตากลมเพื่อให้ยางแห้งก่อนสัก 2 วัน ให้ไก่กินวันละ 3 ชิ้น  รวมทั้งเสริมยาบำรุงเลือดที่จำหน่ายตามร้านขายยาทั่วไปสักวันละ 1 เม็ด เท่านี้ก็เพียงพอที่ทำให้สมบูรณ์ขึ้นแล้ว  สมุนไพรหรือ ยาบำรุงต่างๆ ควรให้พอดีไม่ควรให้มากเกินไป  เพราะไก่ก็ดูดซึมไปเท่าที่ใช้ได้  ที่เหลือจะขับถ่ายออกมา

ย้ำว่าไก่จะมีความสมบูรณ์แข็งแรงหรือแข็งแกร่งหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับการฝึกซ้อม การวิ่ง เตะนวม การปล้ำ รวมถึงเรื่องของสายพันธุ์  มากกว่าการใช้อาหารเสริมหรือยา  ส่วนพลังงานที่ไก่จะใช้ในการฝึกซ้อมก็คือได้จากข้าวเปลือกเป็นหลัก  บางครั้งไก่ใหม่ ๆ ที่นำมาซ้อมครั้งแรกๆ ร่างกายอาจใช้พลังงานมากเกินไป อาจจะเสริมด้วยเนื้อต้มสุก 2-3 ชิ้น หรือไข่ต้มหั่นเป็นชิ้น เสริมให้ 3 วัน หลังอาหารเพื่อซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกาย ทำให้ร่างกายฟื้นตัวได้เร็ว

ไก่จะมีกำลังหรือไม่มีกำลังไม่ได้อยู่ที่อาหารเริ่มอยู่ที่ข้าวเปลือกและการออกกำลังกาย  โดยปกติไก่ที่เลี้ยงออกชนได้ต้องใช้เวลา 2-3 เดือนในการฝึกซ้อม  ออกกำลังกาย เสริมสร้างกำลัง  เตะนวม ซ้อมปล้ำ ส่วนความแข็งแกร่งทนทานอยู่ที่สายพันธุ์ และการฝึกซ้อมด้วยเช่นกัน ไก่ที่ถูกเตะบ่อย ๆ 4-5 ครั้ง ก็มีความทนทานขึ้นมาเอง และหากเป็นไปได้ทุกครั้งที่มีการซ้อมปล้ำก็ควรเสริมแคลเซียมให้ด้วย ก็ไปซ่อมแซมกระดูกที่ได้รับบาดเจ็บพร้อมเสริมสร้างให้แข็งแกร่งแข็งแรงมากยิ่งขึ้น

เมื่อเอ่ยถึงความแข็งแกร่งหลายคนมักนำไก่ลูกหนุ่มไปซ้อมปล้ำกับลูกถ่ายเพื่อจะได้แข็งแรงกว่าไก่รุ่นเดียวกัน และมองว่าถ้าตีกับลูกถ่ายได้ตีกับลูกหนุ่มรุ่นเดียวกัน คงไม่ใช้ปัญหา แต่ความเป็นจริงแล้วถือเป็นวิธีที่ผิดพลาดอย่างมาก  เนื่องจากไก่ลูกหนุ่มกระดูกหรือความแข็งแรงยังมีไม่มาก  ขณะที่ลูกถ่ายผ่านการต่อสู้มาแล้วมากมาย  ไม่ใช่ว่าเกรงว่าลูกหนุ่มสู้ไม่ได้ในเรื่องของชั้นเชิง ทว่าเป็นเรื่องของกระดูก  ไก่ลูกหนุ่มก็เหมือนเด็กอายุ 14-15 ปี ไปต่อยกับคนอายุ 25 ปี เวลาซ้อมกัน ไก่หนุ่มอาจเป็นตัวตีก็ได้  แต่พอกลับไปไก่หน้าซีดและอาจเสียไก่ไปได้เลย  ก็เหมือนนำไม้อ่อนไปตีไม้แก่  ไม้อ่อนก็หักได้ มันเป็นเรื่องของกระดูกไม่เรื่องของสู้ได้หรือไม่ได้ เสียไก่มากันเยอะแล้ว เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ไก่หน้าซีดไก่ที่จะตีกับลูกถ่ายได้นั้นต้อง 14- 16 เดือนขึ้นไป และผ่านการฝึกซ้อมมาพอสมควรถึงจะตีกับลูกถ่ายได้  แต่ถ้าเป็นไก่ลูกหนุ่มจะไม่ตีกับลูกถ่ายเด็ดขาด