ไก่ชนเป็นสัตว์พื้นเมือง มีความแข็งแรงโดยธรรมชาติ ทนทานต่อสภาพแวดล้อมของไทยอยู่แล้ว ทำให้เลี้ยงและจัดการง่าย ซึ่งในอดีตชาวบ้านเลี้ยงกึ่งปล่อยไว้ตามบริเวณบ้าน ใต้ถุนบ้าน ให้อาหารกินเองตามธรรมชาติ ตามป่า และในพื้นที่เกษตร กินแมลง กินธัญพืชที่ร่วงหล่น หรือเสริมอาหารให้เฉพาะช่วงเช้าและเย็นเล็กน้อย เมื่อตกเย็นถึงเวลานอน ก็หานอนตามใต้ถุน บนต้นไม้ กิ่งไม้ เป็นสัตว์ที่เลี้ยงง่าย แต่ถ้ามีเล้าหรือโรงเรือนให้นอนเป็นกิจจะลักษณะ ก็ทำให้สามารถจัดการได้ง่ายขึ้น
ทว่าหลังจากมีการแพร่ระบาดของไข้หวัดนกเมื่อปี พ.ศ. 2547 ซึ่งสร้างความเสียหายให้อุตสาหกรรมการเลี้ยงไก่และการส่งออกผลิตภัณฑ์ของไทยจำนวนมาก ทั้งยังเป็นโรคที่สามารถติดต่อจากสัตว์สู่คนได้ ทำให้หน่วยงานของรัฐต้องเข้มงวดกับการเลี้ยง และเคลื่อนย้ายสัตว์ปีกมาขึ้น พร้อมมีกฎระเบียบและมาตรการต่าง ๆ ออกมาควบคุมและป้องกันไม่ให้ไข้หวัดนกระบาดอีก ซึ่งกฎระเบียบต่างๆ เหล่านี้อาจทำให้เกษตรกรสับสนได้ ไม่เข้าใจและมองว่าเป็นเรื่องที่ยุ่งยาก บางครั้งเกษตรกรเลี้ยงไก่เพียงไม่กี่ตัวต้องมีขั้นตอนมากมาย หลายคนจึงเลิกเลี้ยงไป ส่งผลให้วิถีชีวิตของผู้คนในชนบทหลายแห่งที่เคยมีการปลูกพื้นเลี้ยงสัตว์ควบคู่กัน เกื้อกูลกัน ค่อยๆ จางหายไป
ทั้งที่จริงแล้วกฎระเบียบและมาตรการที่เข้มงวดกับการเลี้ยงสัตว์ปีก กำหนดออกมาเพื่อรองรับกับการเลี้ยงไก่ในระบบอุตสาหกรรมที่เป็นฟาร์มมาตรฐานมากกว่า เพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ ส่วนไก่พื้นเมืองหรือไก่ชน แม้มีมาตรการในการควบคุมและป้องกันโรคเช่นเดียวกัน แต่ก็ไม่ได้เข้มงวดมากนักจนทำให้เกษตรกรจะเลี้ยงไก่ไม่ได้เลย
ทั้งนี้การเลี้ยงไก่พื้นเมืองหรือไก่ชน ไม่ได้เป็นรูปแบบฟาร์ม หากเลี้ยงในบริเวณบ้าน เลี้ยงจำนวนไม่มากนักเกษตรกร สามารถทำได้ทันที แต่ทว่ารูปแบบการเลี้ยงก็ควรเหมาะสม เช่น ต้องให้ไก่มีพื้นที่หรือบริเวณจำกัดแน่นอน พร้อมทั้งมีรั้วรอบขอบชิด เพื่อป้องกันสัตว์พาหะรวมทั้งสัตว์ต่างๆ เข้ามาทำร้ายไก่ และเพื่อให้มั่นใจว่าไก่ที่เลี้ยงมีสุขภาพที่ดี ไม่ได้รับการติดเชื้อ และเป็นแหล่งแพร่ระบาดของโรคที่สำคัญ ซึ่งกรมปศุสัตว์ได้มีข้อแนะนำในการป้องกันดังนี้
- การควบคุมการเข้า – ออก ของคน สัตว์ไม่ให้ยานพาหนะและคน โดยเฉพาะรถรับซื้อไก่ รถรับซื้อไข่ รถรับซื้อขี้ไก่ รวมถึงคนรับซื้อไก่ ไข่ หรือ ขี้ไก่เข้ามาในฟาร์ม หรือบริเวณบ้าน
- งดซื้อไก่จากพื้นที่อื่นๆ เข้ามาเลี้ยง หรือมั่นใจว่าไม่มีโรคติดต่อจึงนำเข้ามาเลี้ยง
- รักษาความสะอาดในโรเรือน ทำโรงเรือนแบบปิด หรือใช้ตาข่ายคลุม และกำจัดเศษอาหาร เพื่อป้องกันไม่ให้สัตว์อื่นๆ รวมทั้งนก หนูเข้ามาในโรงเรือน เพราะอาจนำเชื้อโรคเข้ามาในฟาร์มได้
- ไม่ใช้น้ำจากแหล่งน้ำสาธารณะ เช่น แม่น้ำลำคลองเลี้ยงไก่ หากจำเป็นให้ผสมยาฆ่าเชื้อ เช่น คลอรีน
- หากมีไก่ป่วยหรือตายไม่ว่าด้วยสาเหตุใด ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในพื่นที่ทันที ไม่นำไก่ที่ป่วยหรือตายออกมาจำหน่าย อย่าทิ้งซากสัตว์ลงในแหล่งน้ำ หรือที่สาธารณะ ต้องกำจัดทิ้งโดยการเผา หรือฝังในหลุมลึกไม่น้อยกว่า 5 เมตร ณ จุดเกิดโรค รวมทั้งมูลไก่ ไข่ และอาหารสัตว์ด้วย แล้วราดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ
- ก่อนเข้าไปในฟาร์ม สัมผัสสัตว์ป่วย ซากสัตว์ที่ตายหรือทำลายสัตว์ ควรสวมผ้าพลาสติกกันเปื้อน ผ้าปิดปาก จมูก ถุงมือ หมวก หลังเสร็จงานรีบอาบน้ำด้วยน้ำและสบู่ให้สะอาด เปลี่ยนเสื้อผ้าทุกครั้ง เสื้อผ้าที่ใช้แล้ว พลาสติกหรือผ้ากันเปื้อน ผ้าปิดปากปิดจมูก ถุงมือต้องถอดทิ้ง หรือนำไปชักหรือล้างให้สะอาดก่อนนำมาใช้อีก
- ทำลายเชื้อโรคในพื้นที่ที่เกิดโรคระบาดโดยการฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรคในบริเวณฟาร์ม กรง เล้า พื้นคอก และรอบ ๆ เช้า เย็น ทุกวัน