“ไก่คอล่อน” เป็นไก่พื้นเมืองของไทย กำเนิดที่พัทลุง เป็นไก่ลูกผสมระหว่างไก่คอล่อนของฝรั่งเศสกับไก่ชนของจังหวัดพัทลุง ไก่คอล่อนของฝรั่งเศสเป็นไก่คอล่อนที่นำมาเลี้ยงในอินโดจีน และเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ทหารญี่ปุ่นได้นำเข้ามาในประเทศไทย เพื่อเป็นอาหารของทหาร ทำให้ไก่คอล่อนแพร่หลายในพื้นที่จังหวัดพัทลุง และยังพบเลี้ยงกันมากใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส
ลักษณะประจำพันธุ์
“ไก่คอล่อน” มีลักษณะใกล้เคียงไก่อู หนังหน้าลำคอจะมีสีชมพูกึ่งแดง ตั้งแต่วัยที่เป็นลูกเจี๊ยบกระทั่งโต บริเวณหัวด้านบนมีขน มองโดยรวมเหมือนใส่หมวก มีขนลำตัวสีเหลืองอ่อนถึงสีเหลืองทองทั้งเพศผู้และเพศเมีย ปัจจุบันบันอาจเห็นมีหลายตลอดแนวสันหลังไม่มีขน หรือมีขนแต่ไม่มากนัก ลักษณะหงอนจักรแบบมงกุฎแต่ใหญ่กว่าไก่ชน ปากและแข้งสีเหลือง ผิวหนังสีขาว บริเวณกระเพาะพักจนถึงปากไม่มีขน หรือมีขนบริเวณคอข้างหน้าเป็นกระจุกแต่หนาไม่เกิน 1.5 นิ้ว จึงถูกเรียกว่า “ไก่คอล่อน“
ลักษณะเด่น
ไก่คอล่อนพัทลุง คือเจริญเติบโตเร็ว เนื้อแน่น น้ำหนักตัวดี ทนทานต่อโรค ให้เนื้อมากและนุ่มกว่าไก่พื้นเมืองทั่วไป เนื้อล่อนไม่ติดกระดูก ตลาดมีความต้องการมาก โดยเฉพาะการนำไปทำข้าวมันไก่ ขนที่คอและลำตัวมีน้อย ทำให้การชำแหละใช้เวลาไม่มาก เลี้ยงลูกเก่ง อารมณ์ดี ไม่ดุร้าย เหมาะที่จะเลี้ยงรวมเป็นฝูง ในที่โล่งกว้าง
ลักษณะสำคัญทางเศรษฐกิจ
อายุเมื่อให้ไข่ฟองแรก 165 วัน น้ำหนักตัวเมื่อให้ไข่ฟองแรก 1,700 กรัม ผลผลิตไข่ 75 ฟอง/ปี น้ำหนักเมื่ออายุ 28 สัปดาห์ 2,750 กรัม น้ำหนักเมื่อโตเต็มที่ เพศผู้ 3,750 กรัม เพศเมีย 2,400 กรัม
คุณภาพซากเนื้อไก่คอล่อน เนื้อหน้าอกจะใหญ่ เนื้อแน่นและนุ่มกว่าไก่พื้นเมืองทั่วไป เนื้อมีรสชาติอร่อย เนื้อล่อนไม่ติดกระดูก มีปริมาณคอลลาเจน 68.33% ต่อเนื้อ 100 มก. อุปนิสัยของไก่คอล่อน ชอบอยู่รวมเป็นฝูง ตัวผู้ไม่มีนิสัยอันธพาลไล่จิกตีเหมือนไก่ไทย หากินเก่ง โตเร็ว น้ำหนักตัวดี ทนทานต่อโรค ปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดี เหมาะที่จะเลี้ยงรวมกันเป็นฝูงในพื้นที่ที่มีบริเวณที่โล่งกว้าง สภาพอากาศร้อนชื้น
ปัจจุบันกรมปศุสัตว์ได้ประกาศขึ้นทะเบียนไก่คอล่อนเป็นพันธุ์สัตว์พื้นเมืองไทยประจำถิ่น
การผสมพันธุ์
ไก่คอล่อนแม่พันธุ์สามารถผสมพันธุ์ได้เมื่ออายุ 5 เดือน – 5 เดือนครึ่ง ส่วนตัวผู้จะใช้เป็นพ่อพันธุ์ได้เมื่ออายุ 7 – 8 เดือน โดยพ่อพันธุ์ 1 ตัว สามารถคุมแม่พันธุ์ได้ 5 ตัว