ไก่ชน “ลูกผสม” การได้มาซึ่งไก่เก่ง

หน้าแรก »ไก่ชนไทย » ไก่ชน “ลูกผสม” การได้มาซึ่งไก่เก่ง

ไก่ชนแต่ละพันธุ์  นอกจากมีลักษณะภายนอกที่แตกต่างกันแล้ว ความอดทนแข็งแรง  เชิงชน  ความฉลาด  ความรวดเร็ว  ความหนักหน่วง  รวมถึงเล่ห์เหลี่ยมต่าง ๆ ในการต่อสู้ยังแตกต่างกันอีกด้วย  ซึ่งไก่ชนแต่ละพันธุ์จะมีจุดเด่น จุดด้อยในเรื่องต่าง ๆ เหล่านี้แตกต่างกันออกไป  ทำให้ผู้พัฒนาพันธุ์จึงได้นำเอาข้อดีของแต่ละพันธุ์มารวมไว้ด้วยกัน  โดยการผสมข้ามพันธุ์  อาจเป็นลูกผสมสองสายเลือด  หรือสามสายเลือด  เพื่อให้ได้ไก่ชนที่มีความเก่งครบเครื่องมากที่สุด

ในช่วงตลอดหลายปีที่ผ่านมา  ผู้เลี้ยงไก่ชนบ้านเรามีการพัฒนาสายพันธุ์  โดยนำไก่พื้นเมืองจากต่างประเทศ  โดยเฉพาะไก่พม่าและไก่เวียดนามเข้ามาผสมกันอย่างต่อเนื่อง  ส่งผลให้ลักษณะของไก่ชนที่พบเห็นอยู่ทั่วไป  ในปัจจุบันจึงค่อนข้างแตกต่างจากไก่พื้นเมืองของไทยที่หลายคนรับรู้มาก่อนหน้านี้พอสมควร  ไก่ชนสายพันธุ์ไทยดั้งเดิม  ไม่ว่าเหลืองหางขาว  ประดู่หางดำ  ไก่ลาย  นกกรด ฯลฯ  จากแหล่งต่าง ๆ ทุกวันนี้  ได้ผ่านการพัฒนาพันธุ์เป็นลูกผสมเกือบหมดแล้ว ลักษณะประจำพันธุ์จึงได้เลือนหายไป  เหลือไว้เพียงลักษณะเด่น ๆ อย่างสีขนบางส่วนเท่านั้น  จะหาไก่ชนที่มีลักษณะพันธุ์ดั้งเดิมได้ค่อนข้างยาก

ทั้งนี้ผู้เพาะเลี้ยงไก่ชนทุกคน  ต่างพัฒนาพันธุ์เพื่อมุ่งไปที่ความเก่งมากกว่า  การคัดเลือกลักษณะต่าง ๆ ก็มุ่งไปเรื่องของความเก่ง  และให้ได้เปรียบด้านการชนมากกว่าจึงไม่ได้ให้ความสำคัญกับลักษณะหรือสีสันประจำพันธุ์มากนัก  แต่อย่างไรก็ตามก็มีกลุ่มผู้เลี้ยงไก่พื้นเมืองอีก  กลุ่มหนึ่งที่มุ่งพัฒนาพันธุ์  เพื่อคงลักษณะดั้งเดิมไว้เป็นการพัฒนาพันธุ์  เพื่อความสวยงามเป็นหลัก ซึ่งเป็นกลุ่มผู้เลี้ยงไก่พื้นเมืองเชิงอนุรักษ์  จึงไม่ต้องกังวลว่าไก่พื้นเมืองของไทยจะสูญหายไปจากประเทศ

อย่างที่กล่าวมาแล้วว่า  ไก่ชนแต่ละพันธุ์ก็มีจุดเด่นจุดด้อยที่แตกต่างกัน  ผู้คนส่วนใหญ่จึงเลือกที่เพาะไก่ชนลูกผสม  เพื่อลบจุดด้อยของแต่ละพันธุ์ออกไป  แล้วนำจุดเด่นเข้ามาเสริมกัน  ซึ่งทุกวันนี้ผู้พัฒนาพันธุ์ส่วนใหญ่ต่างก็มุ่งเพาะพันธุ์ไปทางไก่ที่มีเชิงชนจัดจ้าน  รวดเร็ว  ซึ่งถือว่าเป็นไก่เก่ง  ไม่ว่าเป็นไก่ป่าก๋อย  ไก่ตราด  ไก่พนัส ฯลฯ  แต่ทว่าไก่เชิงส่วนมาก  เป็นไก่ที่กระดูกบาง  โครงสร้างเล็ก  เมื่อถูกคู่ต่อสู้ตีหนัก ๆ มักจะทนไม่ได้  จำเป็นต้องนำไก่ที่กระดูกหนา ๆ โครงสร้างดี ๆ ตีหนัก ๆ เข้ามาผสม  อย่างไก่เวียดนามหรือไก่ไซ่ง่อน  แม้เป็นไก่ที่ค่อนข้างช้า  ปากช้าแต่ทว่ามีโครงสร้างดี  กระดูกหนา ตีหนัก  มีน้ำอดน้ำทนดี  ถูกตีก็ไม่ยุบง่าย ๆ เมื่อนำมาผสมข้ามพันธุ์กัน  ทำให้ลูกผสมที่ออกมาครบเครื่องทั้งเรื่องฝีมือและความหนักหน่วง

อย่างในอดีตยุคสมัยหนึ่ง  “ไก่ตราด”  เป็นไก่ที่มีชื่อเสียงในเรื่องชั้งเชิงอย่างมาก  เป็นไก่เก่ง  ฉลาดไหวพริบดี  แต่ข้อเสียคือ  โครงสร้างและเรื่องของหัวจิตหัวใจ  เนื่องจากไก่เก่งพวกนี้เวลาชนมักจะได้ตีคู่ต่อสู้อยู่ฝ่ายเดียว  ไม่ค่อยถูกตี  ทำให้ไม่ค่อยมีควาทรหดอดทนมากนัก  มีอยู่ครั้งหนึ่ง  ทาง  ซีพี  ได้นำเข้าไก่จากเวียดนาม  หรือที่รู้จักกันในชื่อไก่ไซ่ง่อนมา  เพื่อพัฒนาสายพันธุ์ไก่ชนในบ้านเรา  และได้มีโอกาสชนกับไก่ตราด  ซึ่งจุดเด่นของไก่ไซ่ง่อนคือความทนทาน  ดื้อแข้ง  ไม่ยุบหรือหักง่าย ๆ พอ  ช่วงแรกไก่ตราดตีอยู่ฝ่ายเดียว  ทว่าตีไปตีมาเอาไม่ลง  พอโดนไก่ไซ่ง่อนสวนกลับไปมาก ๆ ก็แพ้ไปเลย

หลังจากครั้งนั้น  ผู้ที่เคยเพาะเลี้ยงไก่ตราดต่างก็นำไก่ไซ่ง่อนไปพัฒนาพันธุ์ของตัวเอง  เพื่อทำให้กระดูกและโครงสร้างไก่ของตัวเองดีขึ้น  มีควาทรหดอดทนมากขึ้น  ทำให้ปัจจุบันไก่ตราดแท้ ๆ ของไทย  ถูกกลืนกลายเป็นลูกผสมไปเกือบหมด  สุดท้ายปัจจุบันที่เพาะเลี้ยงกันอยู่ก็เป็นไก่ชนลูกผสม  ตราด+ไซ่ง่อน  เสียเป็นส่วนใหญ่  รวมทั้งไก่ชนพื้นที่ต่าง ๆ ก็นำไก่ไซ่ง่อนไปผสม  เพื่อปรับโครงสร้างไก่ชนแต่ละพื้นที่จึงกลายเป็นลูกผสมไปหมด

อย่างไรก็ดีทุกวันนี้ยังมีเพาะเลี้ยงบางรายที่ยังเพาะพันธุ์ไก่ตราดแท้ ๆ อยู่บ้าง  เพื่อเป็นการอนุรักษ์สายพันธุ์เอาไว้  ซึ่งก็มีไก่เก่งเกิดขึ้นมาอยู่เสมอ  เพราะด้วยพื้นฐานไก่ตราดเป็นไก่เก่งอยู่แล้ว  แต่ทว่าไม่ค่อยมีชนในสนามใหญ่ ๆ มากนัก  เนื่องจากการชนเดิมพันแพง ๆ ไก่เก่งอย่างเดียวอาจไม่พอ  ต้องอาศัยกระดูกและโครงสร้างที่ดีด้วย  เพราะไก่ที่มาชนในสนามใหญ่ ๆ ล้วนเป็นไก่เก่งกันทั้งนั้น  ดังนั้นไก่ที่ออกชนต้องเป็นไก่ที่ครบเครื่องจริงๆ

ไก่พม่าที่มีความฉลาด  รวดเร็ว  ปากเร็ว  ดีเร็ว  มีเหลี่ยมถอดถอย  ซึ่งเป็นที่ผู้เลี้ยงนิยมเช่นกัน  แต่ทว่าด้วยกระดูกค่อนข้างเล็ก  เมื่อนำมาชนกับไก่เชิงของไทย  อย่างเช่น  ป่าก๋อยหรือพันธุ์อื่น ๆ ถ้าหากโดนตีเหมาะ ๆ สัก 2-3 ครั้ง  ก็หักได้เลย  เมื่อหักแล้วก็หมดทางสู้  ผู้เลี้ยงจึงนำพันธุ์ไซ่ง่อนมาพัฒนา  เป็นลูกผสม  พม่า+ไซ่ง่อน  เพื่อให้โครงสร้างดีขึ้น  พอนำมาตีกับไก่เชิงไทย  โดนตีไปก็ไม่ยุบหรือหักง่าย และพอโต้กันไปมาเรื่อย ๆ ไก่ไทยสู้ไม่ได้และแพ้ในที่สุด  ไก่ไทยจำเป็นต้องนำไซ่ง่อนมาพัฒนาเรื่องโครงสร้างความอดทน  เสริมลูกหนัก  เช่น  ลูกผสม  ป่าก๋อย+ไซ่ง่อน  ซึ่งการพัฒนาพันธุ์ต้องแข่งขันกันอยู่ตลอดเช่นกัน

แน่นอนว่าทุกคนต่างต้องมุ่งพัฒนาไก่ของตัวเองหยุดนิ่งอยู่กับที่ไม่ได้  สายพันธุ์ไหนเก่งด้านอะไร  มีข้อดีตรงไหนก็นำมาใช้คล้าย ๆ กันหมด  ถ้าจัดการให้มีระดับสายเลือดที่เหมาะสมได้  พร้อมกับมีการคัดเลือกที่ดี  ก็ทำให้มีไก่ที่เก่งกาจมากกว่าคนอื่น ๆ เช่น  หากผสมพันธุ์ออกมาแล้วมีระดับสายเลือดของไซ่ง่อนมากเกินไปอาจะทำให้มีความเชื่องช้า

อย่างไรก็ดี  ไก่ชนที่มีการพัฒนาพันธุ์อย่างต่อเนื่องก็ทำให้พิสูจน์ทราบได้ค่อนข้างยากว่ามีสายเลือดของสายพันธุ์อะไร  ในระดับไหนบ้าง  ทำให้ผู้เลี้ยงหรือผู้พัฒนาพันธุ์มุ่งไปให้ความสำคัญกับฝีมือและเชิงชนของไก่มากกว่า  ไม่ว่าจะเป็นลูกผสมสายพันธุ์ไหน  ระดับเลือดเท่าไหร่  ก็ต้องมาทดสอบให้เห็นกับตาว่า  เป็นไก่เก่งหรือไม่  ชั้นเชิงเป็นอย่างไร  ก่อนที่ตัดสินใจซื้อเข้ามาเลี้ยงและใช้เป็นพ่อพันธุ์  เพาะขยายพันธุ์ต่อไป