ไขกฎหมายชนไก่ มูลเหตุแห่เข้าสนามผี!?

หน้าแรก »ซุ้มไก่ชน » ไขกฎหมายชนไก่ มูลเหตุแห่เข้าสนามผี!?

การชนไก่ เป็นกีฬาพื้นบ้านประเภทหนึ่งที่ได้รับความนิยมในหลายประเทศทั่วโลก เช่น เวียดนาม พม่า ลาว ฟิลิปปินส์ เป็นต้น  ที่นำเอาไก่สองตัวที่ได้รับการฝึกให้เป็นไก่ชนมาต่อสู้กันในสังเวียน โดยมีสิ่งเดิมพันเป็นเม็ดเงินมูลค่ามหาศาล แต่ขัดกับหลักกฎหมายการเล่นพนันในเมืองไทยหรือไม่ ในขณะที่อีกด้านหนึ่ง การชนไก่ ก็ถือเป็นกิจกรรมที่มีความรุนแรงและอาจมีการต่อสู้กันจนไก่ชนฝ่ายหนึ่ง หรือทั้งสองฝ่ายต้องเจ็บหรือตาย และในบางครั้งก็อาจมีการใช้ยาเพื่อทําให้ไก่ที่นํามาชนมีอาการมึนเมา หรือมีความดุร้ายมากขึ้น การกระทำต่างๆ เหล่านี้ถือเป็นการทารุณกรรมสัตว์ด้วยหรือไม่  มาร่วมไขข้อข้องใจกับนักกฎหมายชื่อดังของเมืองไทยกัน

นายวิรัช หวังปิติพาณิชย์ ทนายความชื่อดัง ได้ให้ข้อมูลว่าหากมีการเล่นไก่ชนและปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการพนันชนไก่และกัดปลา พ.ศ. 2552 ถือว่าถูกต้องตามกฎหมาย โดยมีข้อสรุปได้ ดังต่อไปนี้

1. ขออนุญาตสร้างบ่อน โดยยื่นคำร้องขออนุญาตก่อสร้างหรือดัดแปลงสถานที่เล่นการพนันชนไก่ ซึ่งจะพิจารณาโดยคำนึงถึง

  • สถานที่ที่จะขออนุญาตต้องมีความมั่นคงแข็งแรง และปลอดภัย
  • จำนวนสถานที่ในพื้นที่นั้นว่ามีจำนวนไม่มากเกินสมควร
  • ส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงไก่ชน เพื่อจำหน่ายสร้างรายได้
  • มีการควบคุมและการป้องกันการแพร่ระบาดของโรค
  • จะต้องไม่อยู่ใกล้วัด โรงเรียน โรงพยาบาล

2. ขออนุญาตเล่นการพนัน โดยผู้ขออนุญาตจะต้องได้รับอนุญาตสร้างบ่อนก่อน

3. ใบอนุญาต 1 ใบ ใช้ได้ 1 สังเวียน ส่วนบ่อนหนึ่งจะขออนุญาตจัดให้มีการเล่นการพนันชนไก่ได้กี่สังเวียนนั้น ต้องให้ผู้มีอำนาจสั่งอนุมัติ

4. บ่อนหนึ่งจัดให้มีการเล่นการพนันชนไก่ ได้เฉพาะในวันเสาร์และวันอาทิตย์ของทุกสัปดาห์ที่ไม่ตรงกับวันเฉลิมพระชนมพรรษา หรือวันสำคัญทางศาสนา ทั้งนี้ ต้องไม่เกิน 5 วันต่อเดือน ยกเว้น กรณีพิเศษ เช่น งานประจำปีที่จังหวัดจัด หรือรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายเข้ารัฐหรือสาธารณกุศล

5. กำหนดเวลาชกให้เป็นมาตรฐาน ต้องไม่เกิน 20 นาที/ยก รวมแล้วไม่เกิน 8 ยก และให้พักระหว่างยกไม่น้อยกว่า 20 นาที

6. ถ้าผู้มีใบอนุญาตกระทำการดังต่อไปนี้ อาจหมดโอกาสที่จะขอใบอนุญาตครั้งต่อไป โดยครั้งคราวหรือตลอดไปก็ได้

  • ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้หลังใบอนุญาต
  • ไม่จัดสถานที่ให้มีความมั่นคงแข็งแรง ปลอดภัย และถูกสุขลักษณะอนามัย
  • จัดให้มีการเล่นการพนันอย่างอื่นภายในบริเวณสถานที่เล่นการพนันชนไก่
  • มีการก่อความไม่สงบเรียบร้อย ภายในหรือบริเวณที่เล่นการพนันชนไก่
  • มีการขายสุรา ดื่มสุรา หรือ พกพาอาวุธติดตัว เข้าไปในบริเวณที่เล่นการพนันชนไก่
  • จัดให้มีการเล่นการพนันชนไก่โดยมีการเสริม แต่งเดือย หรือโดยวิธีอื่นที่ไม่ได้เป็นไปตามธรรมชาติของไก่ชน

ไขปม ‘ชนไก่’ ผิดกฎหมายคุ้มครองสัตว์หรือไม่ ?

ทนายวิรัช อธิบายว่า ตาม พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมสัตว์ฯ พ.ศ.2557 ในมาตรา 3 ระบุไว้ว่า การทารุณกรรม คือ การที่ทําให้สัตว์ได้รับความทุกข์ทรมานทั้งทางร่างกายหรือจิตใจ ได้รับความเจ็บปวด หรืออาจทําให้สัตว์นั้นตาย การชนไก่ก็ถือว่าเข้าข่ายทารุณกรรมสัตว์ แต่ในกฎหมายมีการยกเว้นไว้ในมาตรา 21 การจัดให้มีการต่อสู้ตามประเพณีท้องถิ่นและการกระทำอื่นใดที่มีกฎหมายกำหนดให้สามารถกระทำได้เป็นการเฉพาะ การกระทำดังกล่าวนี้ไม่ถือเป็นการทารุณกรรมสัตว์

“ส่วนตัวยอมรับว่า สงสารไก่ ไม่อยากให้มีการชนไก่พนัน เป็นการทรมานสัตว์ และไม่อยากให้มีการส่งเสริมให้คนเล่นการพนัน แต่เมื่อเป็นกฎหมายแล้วก็ต้องยอมรับ อย่างไรก็ดี อยากให้ตรวจร่างกายสัตว์ทั้งก่อนและหลังชน ถ้าเขาเจ็บปวดก็ต้องรักษา และให้มันพักฟื้นจนกว่าจะกลับมาเป็นปกติ ส่วนผู้ที่เข้าไปเล่นพนัน ก็ต้องมีการควบคุมให้เล่นอย่างพอเหมาะ ไม่ใช่เล่นจนหมดเนื้อหมดตัว เกิดปัญหาครอบครัว หรือควรจะได้รับอนุญาตจากคนในครอบครัวให้สามารถเข้ามาเล่นได้” ทนายความชื่อดัง แสดงความเห็น